Hoofdstuk 5
การสะกดคำ และเครื่องหมายในประโยค

การสะกดคำตามคำบอก หรือ Dictée ดิคเต คือการเขียนตามที่ได้ยิน โดยที่บางครั้ง คุณๆผู้เขียน อาจจะไม่รู้ความหมายของทุกคำที่เขียน ข้อดีของภาษาดัชต์คือ ไม่มีตัวอักษรหลายตัวที่ออกเสียง เป็นเสียงเดียวกัน ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องคำพ้องรูป คำพ้องเสียง อย่าง เสียง s ในภาษาไทยเรามีถึง สามอักษรด้วยกันคือ ส ษ และ ศ เวลาเขียนตามคำบอกก็ทำให้งง ไม่รู้จะเลือกตัวไหน

ถ้าผู้เรียนได้ศึกษากฏการสะกดคำแล้ว ไม่ว่าคุณจะได้ยินคำไหน ก็จะนึกออกทันที ว่าคำนั้นควรจะ เขียนอย่างไร ถึงแม้เขียนไปแล้วจะไม่รู้ความหมายก็ตาม

เนื่องจากในภาษาดัชต์นี้ ตัวอักษรทุกตัวจะต้องออกเสียง และเมื่อมันอยู่โดดๆ มันจะมีสระเอ่อะ ให้ เกาะ ถ้าคุณเห็นคำใดในหนังสือเล่มนี้เขียนการอ่านออกเสียงแล้วมีสะกดด้วยการันต์ ให้ออกเสียง อักษรตัวนั้นด้วยสระเอ่อะเสมอนะคะ เช่น park ป๊ารึกค์ อ่านจริงๆ ป๊ารึกเข่อะ แต่เข่อะนี้สั้นมากๆ อย่าออกมาเป็นเข่อะในภาษาไทยเชียวนะคะ หรือ bestemd อ่านได้ว่า เบ่อะสเต็มท์

กฏที่ 1 ตัวอักษรในหนึ่งคำ ออกเสียงทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นพยัญชนะหรือสระ
ตัวอย่าง
คำว่า herfst ออกเสียงกึ่งสระเออะทุกตัวอักษร (ที่ไม่มีสระให้เกาะ) เป็น แฮ้รึฟซ์ท์แปลว่าฤดูใบไม้ร่วง
คำว่า paard ป๊ารึดท์ แปลว่าม้า
ข้อสังเกต คำใดก็ตามที่มีตัว r แทรกอยู่ในคำ เพื่อให้สะดวกสำหรับคนไทย ในชั้นแรกการหัดออก เสียง คุณออกเสียงเหมือน ร เรือ มีสระ อึ ให้เกาะ จะทำให้ออกได้ครบทุกตัว เมื่อออกเสียงได้คล่อง แคล่วแล้ว เสียง อึ จะค่อยๆฟังกลมกลืนและหายไปเอง เป็นเสียง ร รัวลิ้นตามธรรมชาติ

กฏที่ 2 ภาษาดัชต์นั้นไม่นิยมใช้ตัวอักษรเปลือง ตัวสะกดในภาษาดัชต์ จะไม่ซ้ำตัวเดียวกัน
ข้อยกเว้น ในบางกรณีเช่นชื่อเฉพาะ ชื่อคน หรือ เมือง คุณอาจจะพอพบเห็นการสะกดซ้ำกันได้
เช่น
ชื่อเมือง Oss โอ๊ซ ออกเสียงเหมือนมี s ตัวเดียว
นาย Matt มั๊ต ออกเสียงปกติเหมือนมี t ตัวเดียว

กฏที่ 3 สระ จะมีคู่ของมันเป็นเสียงสั้น-ยาว ได้แก่ a – aa, e – ee, o – oo, u – uu
เช่น
kop คบ หัว - koop โค้ป ซื้อ
man มัน ผู้ชาย - maan มาน พระจันทร์

กฏที่ 4 ตัวอักษร q ใช้เช่นเดียวกับภาษาอังกฤษ จะต้องควบคู่ไปกับ u เสมอ เพื่อให้ออกเสียงได้ qu ออกเสียงเป็นเสียง k นำ w (คว)
ตัวอย่าง
aquarium อะควาเรี่ยม ตู้ปลา หรือ พิพิธภัณท์สัตว์น้ำ
ข้อสังเกต
คำที่ใช้ qu ในภาษาอังกฤษ มักจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น kw แทน เช่น
kwaliteit ควาลิเติ้ยท์ มาจาก quality คุณภาพ
kwantiteit ควันติเติ้ยท์ มาจาก quantity ปริมาณ

กฏที่ 5 การสะกด c และ k ในภาษาดัชต์ให้เสียงพยัญชนะสองตัวนี้ไว้เหมือนกัน (ยกเว้นบางกรณี) บ่อยครั้ง เราจะพบว่าคำที่เขียนด้วย c ในภาษาอังกฤษ กลับเขียนด้วย k หรือถือว่าสะกดถูกต้องทั้งสองแบบ เช่น
kamp คั๊มป์ มาจาก camp การตั้งค่าย
kanker คังเค่อร์ มาจาก cancer โรคมะเร็ง
นอกจาก c แล้ว บางครั้ง ทั้ง ch ก็ถูกแทนที่ด้วย k ได้เช่นกัน
kampioen กัมปิยูน จาก champion ผู้ชนะเลิศ
kalk คัลลึก จาก chalk ชอล์ค

กฏที่ 6 ตัว r เมื่อสะกดในคำใด จะออกเสียงรัวลิ้น และทำให้เสียงสระมีความยาวขึ้นเสมอ เช่น
mee เม - ด้วยกัน เมื่อเพิ่ม r เข้าไปเป็น meer จะออกเสียงเป็น เม-เอ้อะเร่อะ -มากกว่า, ทะเลสาบ หรือถ้าให้ง่ายสำหรับคนไทย ก็คือเสียงเอีย เป็น เมียร์ ที่เราใช้เป็นหลักในการออกเสียงในหนังสือนี้นั่นเอง แต่จำไว้นะคะ eer ไม่ใช่เสียงอีอา (เอีย) แต่เป็นเสียง เอ-เอ้อะร์
ข้อสังเกต หากว่า r เป็นเพียงพยัญชนะระหว่างคำ เสียงเร่อะ จะถูกทำให้สั้นขึ้นไปอีก กลายเป็น เสียง รึ กระดกลิ้นสั้นๆครั้งเดียว + เสียงตัวสะกดนั้นๆ (ดูกฏข้อ1) เช่น
Weert เวียหรึดท์ ชื่อเมืองทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ ใกล้ Maastricht

กฏที่ 7 สระเสียงยาวต้องลดรูปสระลง เมื่อมีพยางค์อื่นตามมา กฏข้อนี้จะเห็นได้บ่อยในคำกริยา เช่น
koop โค้ป - kopen โค้เปิ้น
veer ฟีเอ้อร์ - veren ฟีเอ้อะเริ่น
gaap ค้าป - gapen ค้าเปิ้น
vuur เฟือร์ - vuren เฟือเริ่น

กฏที่ 8 การออกเสียง e
+ e ใช้เป็นสระที่ไม่มีตัวสะกด (เป็นพยางค์เปิด) จะออกเสียง เอ่อะ เช่น
be- เบ่อะ คำ prefix ชนิดหนึ่ง
ge- เค่อะ คำ prefix ชนิดหนึ่ง
te เถ่อะ คำบ่งบอก infinitief ; มากไป
+ e เมื่ออยู่ในคำที่มีตัวสะกดเป็นเสียงนาสิก m n ng จะออกเสียงเป็นเสียงกึ่งระหว่าง เอะ และ แอะ เช่น
appartement อั๊บปั๊ร์ตเต่อะเม้นท์ ห้องชุด
ren เร็น วิ่ง
eng เอ็ง น่ากลัว
+ e เมื่ออยู่ในคำคู่กับ r จะออกเสียงเป็นเสียง แอ๊รึ เช่น
kerst แคร์ซท์ วันคริสมาสต์
pers แพรึส ข่าวสาร ; สื่อ
+ e เมื่อใช้คู่กับ n เป็น en ในคำกริยา infinitief หรือคำพหูพจน์ จะออกเสียงเป็นเอ่อะ หรือ เอิ่น แล้วแต่สำเนียงของท้องถิ่นนั้นๆ เช่น
een เอิ่น หนึ่ง
laten ล้าตเติ้น หรือ ล้าตเต่อะ ปล่อยไป
denken เด๊งเคิ่น หรือ เด๊งเค่อะ คิด

กฏที่ 9 z และ v ห้ามนำมาใช้เป็นตัวสะกด เมื่อจะนำมาสะกดจะต้องเปลี่ยนเป็น s และ f แทน และในกรณีกลับกัน พบได้บ่อยในการผันกริยาหรือทำให้เป็นพหูพจน์
ดูตัวอย่างค่ะ
leven – leef
lezen – lees

กฏที่ 10 คำยืมจากภาษาอื่น ให้อ่านตามหลักภาษาเดิม
ตัวอย่างคำ
de scooter - รถสกู้ตเตอร์ ไม่ต้องอ่าน สโก้ตเต้อร์ แต่อ่านสกู้ตเตอร์เหมือนอังกฤษ
het toilet - ห้องสุขา ไม่อ่านว่า โทยเหล็ต แต่อ่านว่า ทัวเล็ต
het symbool - สัญลักษณ์ ไม่อ่านว่า เซิยม์โบล แต่อ่านปกติว่า ซิมโบล คำที่ขึ้นต้นด้วย sy และ เป็นคำยืมจากภาษาอื่น ในพจนานุกรมจะบอกเสมอว่าอ่านเป็น si (ซิ)
de lingerie - ชุดชั้นใน ลิงเจอรี่ ไม่ใช่ลิงเคอรี่
de garage - โรงรถ หรืออู่รถ การ้าชเช้อะ ออกเสียงเป็น ช ไม่ต้องทำเสียงเหมือน g
het journaal - ข่าวประจำวัน ชูร์นาล ไม่ใช่ ยูร์นาล เพราะหยิบยืมมาจากฝรั่งเศส j
het christendom - ศาสนาคริสต์ คริสเติ้นด้ม อ่าน ch เป็นเสียง ค ธรรมดาแบบอังกฤษ
de chef - หัวหน้าพ่อ(แม่) ครัว เช้ฟ ไม่ใช่เค้ฟ รับมาจากฝรั่งเศส คำที่สะกดด้วย ch แต่ออกเสียง เป็นอย่างอื่น ต้องเปิดพจนานุกรมควบคู่ไป

กฏที่ 11 การทำคำให้เล็กลง tje นั้น ในภาษาพูดจะออกเสียงเป็น -ie, -ke โดยไม่ใช่คำใหม่แต่อย่างใด การใช้ -ke นั้นพบได้บ่อยในแถบ Brabant และเขตเบลเยี่ยมตอนบน
het beestje – beesie
het meisje – meiske

กฏที่ 12 คำบางคำนั้นเป็นคำยกเว้น ที่มาจากภาษาเก่า ถึงแม้จะเขียนด้วยตัวอักษรหรือสระนั้นๆ แต่ไม่อ่านเหมือนกับรูปที่เขียน
ตัวอย่าง
bijzonder ไม่อ่าน เบิยซนเด้อร์ แต่อ่าน บีซนเด้อร์
Arnhem ชื่อเมือง ไม่อ่าน อาร์นเฮ็ม แต่อ่าน อาร์นเน็ม
Gorinchem ชื่อเมือง ไม่อ่าน โครินเคิ่ม แต่อ่าน โคร์คึ่ม

กฏที่ 13 - ig ตัวไอในที่นี้ไม่ได้ออกเสียงอิ แต่ออกเสียงสระอึ เป็น อึก
ตัวอย่าง
nodig โนดึค - จำเป็น
aardig อาร์ดึค - นิสัยดี
twintig ทวินถึค - ยี่สิบ

กฏที่ 14 - lijk เมื่อใดที่ส่วนนี้ไปลงท้ายคำอื่น(มิใช่คำเดี่ยวๆ) ij จะออกเสียงเป็น สระอึ เช่น
tijdelijk เทิยเดอะหลึก - ชั่วคราว
vrolijk โฟรหลึก - อย่างชื่นบาน
lelijk เลหลึก - น่าเกลียด
เมื่อเป็นคำเดี่ยวๆ จะออกเสียงตามปกติคือเสียงเอิย เช่น
het lijk เลิยก์ -ศพ
gelijk เค่อะเลิยก์ - ถูกต้อง, ทันที (มี prefix ge- นำหน้า)
lijken เลิ้ยเกิ้น - กริยา ดูเหมือนว่า

กฏที่ 15 - tie ออกเสียงเป็นเสียง s แทนที่จะเป็นเสียง t เป็น ซี่ เช่น
het statie geld สตาซี่เค็ลท์ - เงินค่ามัดจำขวด หรือ กล่อง

เครื่องหมาย และสัญลักษณ์ในการเขียนประโยค het teken เท้เคิ่น & het symbool ซิมโบล

เครื่องหมายเว้นวรรค de spatie
เป็นเครื่องหมายอย่างแรกที่เราจะพบเจอในการใช้ภาษา(เขียน)ดัชต์ ประโยคหนึ่งจะประกอบ ไปด้วยหลายคำ ซึ่งถูกแยกออกจากกันให้เห็นชัดเจนด้วยการเว้นวรรคหนึ่งตัวอักษรค่ะ

ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ de hoofdletter
ตัวอักษรใหญ่ จะใช้ในภาษาดัชต์ก็ต่อเมื่อ

เป็นคำขึ้นต้นประโยค
ยกเว้น มีคำที่เป็น ‘s ขึ้นต้นอยู่ ให้ใส่ตัวอักษรใหญ่ ในคำถัดไปแทน เช่น
’s Ochtends kijk ik naar het journaal. ซ็อคเทิ่นท์ เกิ้ยค์ อิก นาร์ เห็ท ชูนาล - ทุกเช้าฉันจะดูข่าว

เมื่อเป็นชื่อเฉพาะ ไม่ว่าชื่ออะไรก็ตามเช่น ชื่อตำแหน่ง ชื่อเรียกพระเจ้าของศาสนาต่างๆ ชื่อประเทศ ชื่อภาษา ชื่อสัญชาติ ชื่อสถานศึกษา หรือแม้แต่ชื่อวันสำคัญ เช่น
Koninginnedag โคนิงกิ้นเน่อะดัค - วันราชินี
Tahiti ตาฮิติ - ประเทศตาฮิติ
Nederlandse Spoorwegen เน้เด้อลันด์เซ่อะ สโปร์เว้เคิ่น - การรถไฟแห่งเนเธอร์แลนด์
ยกเว้น ชื่อวัน และชื่อเดือน เขียนตัวเล็กเสมอ
ยกเว้น คำว่า van, der, de, het, den, ten, ter ในชื่อคน มักไม่เขียนเป็นตัวใหญ่ ยกเว้นถูกระบุ เป็นพิเศษจากเจ้าของชื่อ เช่น
Elizabeth van der Hurk
Erik van den Broek

เครื่องหมายมหัพภาค de punt [.]
มหัพภาคหรือจุด ใช้สำหรับ จบประโยคบอกเล่า

ใช้ในคำย่อ ชื่อย่อ เช่น p. (pagina) Mw. (mevrouw)
ใช้ในการเขียนบอกเวลา เช่น 12.05 uur
ใช้ในการเขียนบอกจำนวนที่มากกว่า 999 เช่น 3.204

เครื่องหมายจุลภาค de komma [,]
ลูกน้ำ หรือจุลภาคใช้สำหรับ
ใช้แบ่งประโยค เมื่อประโยคนั้นเกิดจากการรวมประโยคย่อย หรืออนุประโยคเข้าด้วยกัน เพื่อกั้นไม่ให้กริยาแท้สองตัว อยู่ติดกัน เช่น
Waar een wil is, is een weg. วาร์ เอิ่น วิล อี้ส อี้ส เอิ่น เว็ค - ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
waar een wil is เป็นหนึ่งอนุประโยค is เป็นกริยาแท้ของประโยคหลัก ต้องกั้นด้วย , เพื่อไม่ให้ กริยาชนกัน
ใช้แบ่งจุดทศนิยม และใช้บอกค่าเงิน เช่น 25,50 euro
ใช้แยกส่วนของประโยค โดยถ้าคมม่าตามหลังคำนามหรือกลุ่มคำใด ประโยคหรืออนุประโยคที่ตามมา จะจะมีความหมายเพื่อขยายคำนามนั้นๆ เช่น
De studenten uit Thailand, die erg arm zijn, mogen het openbaarvervoer gratis gebruiken. เด่อะ สตือเด้นเติ้น เอิ้วย์ ไทลันท์ ดี แอ๊รึค อาร์ม เซิยน์ โม้เคิ่น เห็ท โอ้เพิ่นบาร์แฟร์ฟูร์ คร้าทิส เค่อะเบริ้วย์เคิ่น - นักเรียนจากประเทศไทยซึ่งฐานะยากจนมาก ได้รับอนุญาตใช้ใช้บริการขนส่งมวลชนได้ฟรี

เครื่องหมายปรัศนีย์ het vraagteken [?]
เครื่องหมายคำถาม ใช้ในกรณีเดียวคือในประโยคที่ต้องการคำตอบ เช่น
Ga je niet mee? คา เยอะ นี้ท เม๊ - เธอไม่ไปด้วยเหรอ

เครื่องหมายอัศเจรีย์ het uitroepteken [!]
ใช้เมื่อต้องการเน้นประโยคนั้น ด้วยความประปลาดใจ สงสัย ไม่แน่ใจ หากว่าเราต้องอ่านออก เสียงประโยคที่มีเครื่องหมายอัศเจรีย์ ให้เน้นเสียงลงไปที่คำแรกของประโยคค่ะ ตามปกติแล้ว บนสระของคำที่ต้องการเน้นก็มักจะมี accent ประกอบอยู่บอกให้เรารู้ด้วย เช่น
Wat een mooi meisje! วั๊ท เอิ่น มอย เมิ้ยซ์เช่อะ - สาวคนนี้น่ารักจริ๊ง
Au! Dat doet pijn! เอ๊า ดั๊ท ดู๊ท เพิยน์ - โอ๊ย เจ็บนะเฟ้ย

เครื่องหมายอัญประกาศ het leesteken [‘ ... ’]
เครื่องหมายฝนทอง เป็นตัวเดี่ยว ใช้สำหรับเน้นข้อความหรือคำ ในประโยค เช่น
Hij gaf mij een ‘gouden’ ring. เฮิย คั๊ฟ เมิย เอิ่น เคาเดิ้น ริง - เขาให้แหวนทองคำกะชั้นน่ะ

เครื่องหมายอัญประกาศ het aanhalingsteken [“ ... ”]
เครื่องหมายฟันหนู แบบตัวคู่ ใช้เพื่อบ่งบอกประโยคที่เป็นคำพูดของบุคคลได้เหมือนกับภาษาไทยค่ะ เช่น
Thomas zei, “Wanneer gaan wij weer naar de film?” โทมัส เซิย วันเนียร์ คาน เวิย เวียร์ นาร์ เด่อะ ฟิล์ม - โทมัสพูดว่า เมื่อไหร่เราจะไปดูหนังกันอีก

เครื่องหมายอโพสโตร้ฟ de apostrof [’]
เป็น leesteken ชนิดหนึ่ง การใช้มีกฏดังต่อไปนี้
ใช้แสดงคำนามพหูพจน์ ร่วมกับ s โดยใช้กับคำศัพท์ที่ลงท้ายด้วยสระ a, e, i, o, u และ y ที่ออกเสียงเป็น อา เอ อี โอ อือ เท่านั้น ไม่ให้ใช้ในคำที่สะกดด้วย ee หรือ é เช่น
ski's สกีซ์ - สกี
auto's เอาโต้ส์ - รถยนต์
baby's. เบบี้ส์ - เด็กทารก (ข้อสังเกต คำนี้ออกเสียงเหมือนภาษาอังกฤษ)

ใช้แสดงความเป็นเจ้าของ ตามหลังคำนามที่ลงท้ายด้วยสระ จะใช้กฏเดียวกับข้อบน
baby’s kamer เบบี้ส์ ค้าเมอร์ - ห้องเด็กอ่อน
ข้อสังเกต ถ้าชื่อไปลงท้ายด้วยเสียง s, sch, x, z ใส่แค่เครื่องหมายอโพ้สโตร้ฟ ได้เลยโดยตรง ไม่ต้องใส่ s เข้าไปอีก เช่น
Laurens’ horloge ลาวเริ่นซ์ ออล้อชเช่อะ - นาฬิกาข้อมือของลาวเริ่นซ์
Heinz’ ketchup เฮิยนซ์ แค้ชชึพ - ซอสมะเขือเทศ ไฮน์ซ์
Koningin Beatrix’ paleis โคนิงงิ้น เบอาทริกซ์ ปาเลิ้ยส์ - พระราชวังของพระราชินีเบอาทริกซ์

ใช้เพื่อแบ่งแยกจำนวนออกจากคำ ในคำที่กล่าวถึงตัวเลข หรือคำย่อ เช่น
A4’tje อาเฟียร์เจ้อะ - กระดาษเอสี่
TV’s เทเฟส์ - โทรทัศน์หลายเครื่อง

ใช้ในการย่อคำ ที่เป็นที่รู้กันดี บางคำใช้แค่ในการเขียน บางคำใช้ในภาษาพูด เช่น
R’dam – Rotterdam - เมืองรอตเตอร์ดัม
M’n – mijn มึน - ของฉัน
zo’n - ซน .....เช่นนั้น
‘t - het ออกเสียง ท์ ปกติมักจะเชื่อมเสียงเข้ากับ is ที่ตามมาดังตัวอย่าง ’t is wat. ทิส วั๊ต - อะไรนะเนี่ย แสดงความตื่นเต้น แปลกใจ ไม่ได้เป็นคำถาม

เครื่องหมายนขลิขิต de haagjes ( )
เครื่องหมายวงเล็บ ใช้เมื่อเราต้องการจะเพิ่มข้อมูลอะไรจากคำหรือข้อความที่เรากล่าวไปก่อนหน้า หรือเพื่อแยกราย ละเอียดของคำที่กล่าวไปแล้ว คำที่อยู่ในวงเล็บจะเป็นคำเดียว หรือเป็นอนุประโยค bijzin ก็ได้ ดังตัวอย่าง
belangrijk kanalen(waterweg) เบ่อะลังเริ้ยค์ คานาเลิ่น (ว้าเต้อร์เหว็ค) = คลองที่สำคัญ (ทาง เดินน้ำ)

เครื่องหมายยัติภังค์ het liggende streepje [-]
ใช้เมื่อ
คำนามนั้นเป็นชื่อเฉพาะ ของสถานที่ หรือชื่อคน เช่น
Knokke-Heist
Mw. Rhode-Hamers
Sint-Nicolaas
Zuid-holland
สิ่งที่เปรียบเทียบกันได้ หรือคำประสมพิเศษ เช่น
het woon-werkverkeer
doe-het-zelf zaak
glas-in-lood ramen
het I-mode toetstel
เพื่อแบ่งคำที่เป็นการผสมของคำย่อ ตัวเลข และตัวอักษร เช่น
HIV-virus
HF-film
ในการเขียนคำพวก prefix หรือ suffix เช่น
ver-
-heid

เครื่องหมายอัฒภาค de puntkomma [;]
ใช้เพื่อแยกตัวอย่างของสิ่งที่เราต้องการจะยก มักพบได้บ่อยในพจนานุกรม เมื่อแสดงตัวอย่าง ประโยคจากแต่ละความหมาย และการใช้ของคำคำเดียวกัน หรือเมื่อแจกแจงสิ่งต่างๆ ที่เป็น ประเภทเดียวกัน เช่น
geheimzinnig bnw bij raadselachtig; waarvan de bedoeling niet duikdelijk blijkt; waarvan niet veel bekend is
อนุประโยคที่อยู่หลัง ; ทั้งสอง ต่างก็เป็นรายละเอียดที่ต่างกันเพื่อขยายความหมาย raadselachtig ที่อยู่ข้างหน้า

เครื่องหมายทวิภาค de dubbele punt [:]
ไม่ค่อยใช้ในการเขียนทั่วไปนัก การใช้ทวิภาค จะพบได้ในการเขียนบทสนทนา เพื่อกั้นชื่อผู้พูดออก จากประโยคที่พูด
Daphne : Waar gaan wij naar toe? วาร์ คาน เวิย นาร์ ทู - เราจะไปไหนกันเนี่ย

เครื่องหมายเตรม่า (จุดสองจุดบนสระ) het deelteken [ë]
ใช้เพื่อแบ่งการออกเสียงสระที่ติดกันสองตัวออกจากกัน เพื่อไม่ให้กลายเป็นสระประสมในภาษา ดัชต์ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันคือ aa, ae, ai, au, ee, ei, eu, ie, oe, oi, oo, ou, ui และ uu หากเมื่อไหร่ก็ ตามที่จำเป็นต้องแยกเสียง จะต้องใส่เตรม่าบนสระตัวที่ต้องการจะแยกออกเป็นพยางค์ใหม่ เช่น
Tunisië - ie ถ้าหากมาติดกันจะออกเสียงเป็น อี (เสียงยาว) ตามกฏสระประสม ดังนั้น เมื่อเรา ต้องการแยกเสียงออกเป็น อี-เอ่อะ จะต้องใส่เตรม่าเข้าไปบนตัวอี เพื่อแยกพยางค์ใหม่ออกมา ให้ อ่านออกมาได้เป็น ตูนีซีเอ่อะ - ประเทศตูนิเซีย
poëzie - oe ถ้ามาติดกันจะออกเสียงเป็น อู จึงต้องใส่เตรม่าแยกพยางค์ออก เพื่อให้อ่านได้ถูกต้อง เป็น โพเอซี่ - บทประพันธ์
geïsoleerd - ei ออกเสียงเป็น เอิย เมื่อใส่เตรม่า จึงแยกออกมาเป็นคนละพยางค์ ได้ว่า เคออีโซ เหลียร์ด - ถูกปิดกั้น แยกออก
ruïne - ui ออกเสียงเป็น เอิวย์ จึงต้องแยกออกมาเพื่อให้อ่านเป็น รึอีนเน่อะ - ซากปรักหักพัง
naïf – ai อ่านเป็นน้ายฟ์ มีเตรม่าเข้ามาแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิงเป็น นาอี้ฟ - ซื่อ อ่อนต่อโลก
ข้อสังเกต สระที่มาจากคำละตินและฝรั่งเศส ถึงแม้จะอยู่ในรูปสระประสมของดัชต์ แต่ก็ไม่ต้อง ออกเสียงแบบดัชต์ ให้ยึดคำอ่านเดิมตามหลักละติน ได้แก่ -ei, -eus, -eum และ –ien เช่น
petroleum อ่าน เปโตรเลี่ยม ไม่ใช่ เปโตรเลิ่ม
ข้อยกเว้น สระประสมอื่นๆ ที่ไม่มีอยู่ในระบบเสียงดัชต์เช่น ao ไม่จำเป็นต้องใส่เตรม่า
คำบางคำนั้นเราไม่จำเป็นต้องใส่เตรม่า เพราะว่าใน รูปสระภาษาดัชต์ไม่มีโครงสร้างเช่นนั้นอยู่ จึงถือเป็นคำพิเศษ เมื่ออ่านจึงใช้วิธีการอ่านเรียงตัวสระ เช่น
chaos (ความโกลาหล) อ่านคาโอ้ส เพราะเสียง ao ไม่เคยมีอยู่ในระบบ ต้องแยกกันอ่านทีละตัว
farao ฟาราโอ (กษัตริย์ของอียิปต์)

เครื่องหมายและ de ampersand [&] อัมเป้อร์ซันท์
ใช้ในการเขียนคำว่า”และ”ในหัวข้อ หรือชื่อต่างๆ เช่น
H & M ร้านเสื้อผ้าราคาไม่แพงมากนัก มีสาขาทั่วโลก รวมทั้งเนเธอร์แลนด์
V & D (Vroom en Dreesmamn) ร้านเสื้อผ้า

เครื่องหมายเน้นน้ำหนักเสียงแอ het accent grave [è] อั๊คเซ้นต์ คร้าฟ
ในการเขียนคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส จะพบเห็นอยู่บนตัวอักษร e เท่านั้น หากเป็น E ใหญ่ เราก็จะไม่ใส่เข้าไปอีก
ตัวอย่างคำ
crème แครม - ครีม
cassière คาชชิแยร์ - แคชเชียร์ พนักงานเก็บเงิน
carière คาริแยร์ - อาชีพการงาน
hè แห - เสียงอุทานแสดงความประหลาดใจ หรือเสียงหัวเราะแหะๆ
voilère ฟัวแยร์ - กรงนกขนาดใหญ่

เครื่องหมายเน้นน้ำหนักเสียงเอ het accent aigu [é] อั๊คเซ้นต์ เอคือ
ใช้เขียนคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส ใช้กับคำพยางค์ที่สองเท่านั้น หากคำใดที่มาคำเดิมมีการใช้ accent กับตัว e ในพยางค์แรก เมื่อใช้เขียนในภาษาดัชต์ ไม่จำเป็นต้องใส่ accent เข้าไป มีตัวอย่างคำที่พบบ่อยดังนี้
café คาเฟ่ - ร้านกาแฟ
Hé เฮ้ - การเรียกเพื่อดึงความสนใจ
Desirée เดซิเร่ - ชื่อผู้หญิงชื่อหนึ่งในภาษาดัชต์
prostitué โพร้สติตึเอ้ - หญิงขายบริการ
ใช้เพื่อเน้นเสียงและความหมายของพยางค์ในคำ klemtoonteken เคล็มโทนเท้เคิ่น - คำที่เน้นเสียง สระ เขียนบนสระ (ใช้ไดักับสระเกือบทุกตัวยกเว้น i ) เช่น
één เอน - หนึ่ง (เท่านั้น)
vóórkomen ฟ๊อร์โคเมิ่น - เกิดขึ้น มาถึงสถานที่
voorkómen ฟอโค๊เมิ่น - ป้องกันไม่ให้เกิด

เครื่องหมายเน้นเสียงแอ het accent circonflex [ê] อั๊คเซ้นต์ เซียร์คนเฟล็กซ์
ใช้ในการเขียนคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศส จะพบเห็นอยู่บนตัวอักษร e เท่านั้น หลักการใช้โดยทั่วไป เหมือน accent จากภาษาฝรั่งเศสอีกสองข้อแรก
ตัวอย่างคำ
crêpe แคร้ป - แพนเค้กแบบฝรั่งเศส แผ่นบางๆ
tête-à-tête แต๊ด อา แต๊ด - นาซิสซัสสีเหลืองแบบดอกเล็กปลูกชิด กันเป็นกอใหญ่ๆ

เครื่องหมายตัวเอก้นหอย het apenstaartje [@] อ้าปเปิ้นสตาร์ทเจ้อะ
ใช้เขียนที่อยู่จดหมายอิเลคโทรนิคส์ Email ให้อ่าน @ ว่า at อั๊ต หรือ apenstaartje อ้าปเปิ้นสตาร์ทเจ้อะ (แปลตรงตัวได้ว่าหางลิงน้อยๆ เหมือนลิงม้วนหางบ้างไม๊คะ) เช่น
smileyinbelgium@hotmail.com อีเมล์ของลี่เองค่ะ ใครที่มีปัญหาในการเรียน หรือพบที่ผิด ในหนังสือเล่มนี้ ติดต่อแจ้งได้เลยโดยตรงค่ะ เพื่อการแก้ไขปรับปรุงในการ พิมพ์ครั้งต่อไป ใครที่ใช้ msn ของฮอทเมล์ก็สามารถคุยทางไมค์เผื่อตรวจสอบการออกเสียงของคุณเองได้ค่ะ

เครื่องหมายจุดไข่ปลา het beletselteken […]
ใช้เพื่อละสิ่งที่ไม่ต้องการจะกล่าว แต่ทิ้งไว้เป็นนัย เช่น
Hij is een man die ... เฮิย อี้ส เอิ่น มัน ดี ... เขาเป็นผู้ชายแบบที่ (ไม่บอกดีกว่า เดาเอาเองละกัน)


Top
| Home | Europe tour by Smiley | RianDutch | Facebook Double Dutch | Contact | | Privacy Statement
Copyright © 2003-2024 www.thai-dutch.net All rights reserved สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ 2537